กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ วันนี้ (20 พฤษภาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค 5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ************************************ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรควันที่ 20 พฤษภาคม 2565
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคพิษสุนัขบ้าในคนนิยมเรียก โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) ส่วนในภาษาอีสานเรียก โรคหมาว้อ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ และสัตว์อื่นๆ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว ในบ้านเรานั้นมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ในโคปีละประมาณ 60 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่พบในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งมีนับล้านตัวในแต่ละปี พาหะนำเชื้อที่สำคัญในบ้านเราคือ สุนัขพบได้ประมาณร้อยละ 95 แมวร้อยละ 4 สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมราวร้อยละ 1 สำหรับในแถบประเทศละตินอเมริกานั้น พบพาหะที่สำคัญคือค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat) ซึ่งเป็นสาเหตุให้โคตายปีละนับแสนตัว สาเหตุและการติดต่อ เกิดจาก Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรงถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการถูกสัตว์เป็นบ้ากัด เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายโดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะยังคงอยู่บริเวณนั้นระยะหนึ่ง โดยเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ ก่อนจะเดินทางผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมอง มีการแบ่งตัวในสมอง พร้อมทำลายเซลล์สมอง และปล่อยเชื้อกลับสู่ระบบขับถ่ายต่างๆ เช่น ต่อมน้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำตา ตามแขนงประสาทต่างๆ ทำให้เกิดอาการ บางรายเกิดอาการช้านานเกิน 1 ปี บางรายเกิดอาการเร็วเพียง 4 วันเท่านั้น แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป บาดแผลใหญ่ ลึก หรือมีหลายแผล มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปได้มากตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว ถ้าน้ำลายถูกผิวหนังปกติ ไม่มีรอยข่วนหรือบาดแผล ไม่มีโอกาสติดโรค การติดต่อโดยการหายใจ มีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีจำนวนไวรัสในอากาศเป็นจำนวน มาก เช่น ในถ้ำค้างคาวนอกจากนั้นติดต่อจากการกินได้ ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์กินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายใหม่ๆอายุคนที่ถูกกัด เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาวความรุนแรงของเชื้อ เชื้อจากสัตว์ป่าอันตรายกว่าสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการ เพราะ เชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะ ๆ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการวิธีตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ ตรวจหาแอนติเจนต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าด้วยวิธี Fluorescent Antibody Technic (FAT)ตรวจยืนยันด้วยการแยกเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่ผลการตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี FAT เป็นลบ สามารถตรวจยืนยันได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้ 2.1 Mouse Inoculaltion Test (MIT) 2.2 Cell Isolation ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสพิษสุนัขบ้าโดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR)ใช้เป็นวิธีพิเศษในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลด้วยวิธีการตรวจหาแอนติเจนและวิธีการแยก เชื้อไวรัส หรือกรณีตัวอย่างที่ไม่ใช่เนื้อสมองตรวจหาระดับนิวทรัลไลซิ่งแอนติบอดีMouse Neutralization Test (MNT) Rapid Fluorescent Focus Inhibition Test (RFFIT) เอกสารอ้างอิง 1. ประเสริฐ ทองเจริญ, โรคพิษสุนัขบ้า. พิมพ์ครั้งที่ 1 โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2523 : 15, 30 2. จันทพงษ์ วะสี, แนวทางการแก้ปัญหาการดูแลป้องกันรักษาผู้สัมผัสหรือสงสัยว่าสัมผัส โรคพิษสุนัขบ้า, เอกสารแจกในการประชุมสัมมนาวิชาการสหัสวรรษใหม่ของการสาธารณสุขและการ จัดการโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย, โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว เชียงใหม่, วันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2544 3. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า 2543 : 58 4. Laboratory techniques in Rabies, 4th edition, WHO, Geneva, 1996 วิธีการควบคุมโรค ก. มาตรการป้องกัน จดทะเบียนและออกใบอนุญาตเลี้ยงสุนัข และฉีดวัคซีนสุนัข จับและกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ (อาจรวมถึงการฉีดวัคซีนแมวด้วย) และให้สุขศึกษาแก่เจ้าของสัตว์และประชาชนเกี่ยวกับ - การควบคุมสุนัขและแมว ถือเป็นเรื่องสำคัญ คือ เมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยเฉพาะในที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน จะต้องผูกล่ามสัตว์เลี้ยงไว้ - สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่มีท่าทางแปลก ๆ หรือมีอาการป่วย อาจก่ออันตรายได้จึงไม่ควรจับหรืออุ้ม ในกรณีที่มีสัตว์ป่วยหรือมีสัตว์กัดคนหรือกัดสัตว์อื่นๆ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือตำรวจในท้องที่ และกักขังเพื่อสังเกตอาการสัตว์นั้น - ไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง เพราะอาจนำโรคนี้มาสู่คนได้ - ในสภาพสังคมที่ยังไม่เอื้ออำนวยในการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างเข้มงวด จำเป็นต้องให้วัคซีนแก่สุนัขทั้งหมดเป็นประจำ สุนัขและแมวที่กัดคน (แม้ว่ามีอาการปกติขณะที่กัด) ต้องกักขังไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หรืออาจทำลายสัตว์นั้นทันที และส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ สุนัขและแมวที่มีอาการผิดปกติควรทำลาย และส่งตรวจทันที สุนัขและแมวที่มีราคาหรือเจ้าของไม่ต้องการทำลาย ต้องระมัดระวัง ถ้าทำได้ควรกักขังและสังเกตแสดง ซึ่งปกติแล้วหากสัตว์มีเชื้อในวันที่กัด ก็มักจะเริ่มมีอาการของโรคภายใน 5 - 8 วัน เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ต่อมาจะมีอาการแบบบ้าดุร้าย หรือแบบอัมพาต และตายในที่สุด สัตว์ป่าทุกชนิดควรทำลายและส่งตรวจทันที กรณีสัตว์ในสวนสัตว์กัดคน อาจจะเป็นการเหมาะสมที่จะให้วัคซีน/ซีรั่ม แก่ผู้ถูกกัดมากกว่าที่จะทำลายสัตว์ ควรกักขังและสังเกตอาการภายใน 6-12 เดือน ถ้ามีสัตว์ตาย ควรส่งหัวสัตว์ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยใส่ในถุงพลาสติกหนา ๆ และแช่ในน้ำแข็ง (ห้ามแช่แข็ง) สุนัข แมว ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรทำลายทิ้งทันที หากไม่ทำลายต้องกักขังสัตว์ในกรงที่แข็งแรงนานอย่างน้อย 6 เดือน ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ และต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนอนุญาตให้เจ้าของรับกลับ ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 1 เข็มทันที พร้อมทั้งกักบริเวณหรือผูกล่ามอย่างน้อย 3 เดือน ผู้ที่เสี่ยงโรคสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเขตที่มีโรคชุก ควรได้รับการป้องกันโรคล่วงหน้า โดยฉีดวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงขนาด 1 มล. เข้ากล้ามเนื้อ หรือ 0.1 มล.เข้าในหนัง จำนวน 3 เข็ม ในวันที่ 0, 7 และ 28 ถ้ากำลังได้รับยา chloroquine ป้องกันโรคมาลาเรีย ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนเข้าในหนังเพราะภูมิคุ้มกันจะถูกกด ควรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การป้องกันหลังถูกสัตว์กัด ทำได้โดย - การักษาบาดแผลสัตว์กัดทันทีเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิผลมากที่สุด กำจัดไวรัสที่แผลโดยการล้างและรักษาบาดแผลอย่างถูกต้องและทั่วถึงทันทีด้วยน้ำและสบู่ (ถ้าไม่มีอาจใช้ผงซักฟอก) เมื่อมาถึงสถานพยาบาล ควรได้รับการล้างแผลซ้ำ ถ้าแผลลึกต้องล้างให้ถึงก้นแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อเช่น โพวีโดนไอโอดีน ไม่ควรเย็บแผล (เพราะรอยเย็บจะเอื้อให้เชื้อเข้าไปสู่ปลายประสาทได้ง่ายขึ้น) ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ให้เย็บหลวม ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้เชื้อที่อาจยังหลงเหลือได้มีการระบายออกไปได้ และต้องทำหลังจากฉีด Immune globulin เข้าที่แผลแล้วเท่านั้น - การให้ภูมิคุ้มกันโรคโดยฉีด Rabies immune globulin (RIG) โดยเร็วที่สุดเพื่อทำลายเชื้อที่แผล และตามด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน RIG : ให้อิมมูโนโกลบุลินผลิตจากม้า (ERIG) ขนาด 40 IU/น้ำหนักตัว 1 กก. หรือให้ชนิดผลิตจากคน (HRIG) ขนาด 20 IU/น้ำหนักตัว 1 กก. ควรพยายามฉีดเข้าที่แผลให้ได้มากที่สุด ถ้ายังเหลืออยู่จึงฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก วัคซีน : การฉีดวัคซีน 1 มล. เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 5 เข็ม ในวันที่ 0,3, 7, 14 และ 30 ถือเป็นวิธีมาตรฐาน หรืออาจฉีดวัคซีนเข้าในหนัง 2 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 1 จุดในวันที่ 30 และ 90 ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกัน แนวทางการตัดสินใจว่าจะให้การป้องกันด้วยวัคซีน/RIG ทันที หรือรอสังเกตอาการของสุนัข แมว ก่อน ควรพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ ประวัติการได้รับวัคซีนของสัตว์ พฤติกรรมและอาการของสัตว์ขณะที่กัด ความชุกของการเกิดโรคในพื้นที่ หากไม่มั่นใจ ควรให้การป้องกันทันที โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ถูกกัดเป็นแผลฉกรรจ์ และสังเกตสัตว์เมื่อครบ 10 วัน ถ้าสุนัข แมว ยังมีอาการปกติอยู่ก็หยุด ไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็มต่อไป - การแพ้วัคซีน ส่วนใหญ่มีการแพ้เฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด บางคนอาจมีอาการแพ้ทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง วิงเวียน บางคนอาจมีผื่นคันตามร่างกาย หรือลมพิษ แต่พบไม่บ่อย ในสหรัฐอเมริกา มีรายงาน 2 ราย เกิดอัมพาตของระบบประสาทแบบชั่วคราว (transient neuroparalytic illness) จาก HDCV คนที่ได้รับการฉีดกระตุ้นบ่อยๆ อาจมี hypersensitivity ได้ประมาณ 6เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 2-21 หลังได้รับ HDCV โดยมีอาการผื่นแพ้ (pruritic rash) ลมพิษ (urticaria) ปวดข้อ ข้ออักเสบ (angioedema) คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย แต่อาการเหล่านี้ทุเลาได้จากจากการให้ antihistamines น้อยรายที่ต้องให้ corticosteroids หรือ epinephrine HRIG ไม่มีอาการแพ้รุนแรง ปัจจุบัน ERIG ที่ใช้อยู่มีความบริสุทธิ์มาก มีอัตราแพ้เพียงประมาณ 1-6 เปอร์เซ็นต์ และอาการแพ้ไม่รุนแรง - ให้การป้องกันอื่น ๆ เพราะแผลสุนัขหรือแมวกัด อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมทั้งเชื้อบาดทะยัก จึงควรพิจารณาการให้วัคซีนบาดทะยักและยาต้านจุลชีพด้วย ข. การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม การรายงานผู้ป่วย : โรคนี้เป็นโรคที่ต้องแจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การแยกผู้ป่วย : ป้องกันการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย การทำลายเชื้อ : น้ำลายและสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำลายผู้ป่วยต้องนำไปฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานการติดต่อจากการดูแลคนไข้ แต่ผู้ดูแลคนไข้ควรสวมถุงมือ เสื้อคลุม และสวมผ้า ปิดปากจมูก การกักกัน : ไม่จำเป็น การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส : ผู้สัมผัสคนไข้ ถ้ามีแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุตา จมูก ปาก และสัมผัสน้ำลายผู้ป่วย ควรได้รับวัคซีนด้วย การสอบสวนผู้สัมผัสและแหล่งโรค : ค้นหาสัตว์ที่กัดและผู้ที่ถูกสัตว์กัด หรือสัตว์ที่ถูกกัด การรักษาผู้ป่วย : ให้การรักษาตามอาการภายใต้การดูแลอย่างเข็มงวด ค. มาตรการเมื่อเกิดการระบาด ประกาศเขตควบคุมการติดโรค ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่น และกฎหมายสาธารณสุข ฉีดวัคซีนสุนัขในพื้นที่เกิดโรค อาจจำเป็นต้องให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ด้วย บังคับใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น การกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ หรือ สุนัขไม่ได้รับวัคซีน การควบคุมจำนวนสุนัขโดยการตอน ทำหมัน และฉีดยาคุมกำเนิด ช่วยให้สามารถตัดวงจรการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิผล ง. สัญญาณภัยที่ควรระวัง : อาจเกิดปัญหาเมื่อมีการนำโรคเข้าสู่พื้นที่ปลอดโรคแล้ว หรือมีการระบาดในพื้นที่ที่มีสุนัขจรจัด หรือสัตว์ป่าจำนวนมาก 1. ถ้าเป็นสัตว์เล็ก อย่างกระรอก กระต่าย แมว ส่งชันสูตรได้ทั้งตัว แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ อย่างสุนัข สุกร วัว ต้องตัดเฉพาะส่วนหัวไปชันสูตร 2. ผู้ตัดหัวสัตว์จะต้องไม่มีบาดแผลที่มือ และต้องสวมถุงมือยางหรือถุงมือพลาสติก ที่กันน้ำได้ขณะทำการตัด 3. นำถุงพลาสติกครอบปากสุนัขก่อนลงมือตัด เป็นการป้องกันน้ำลายสัตว์กระเด็น จากนั้นใช้มีดคมๆ ตัดตรงรอยข้อต่อระหว่างศีรษะกับคอ รวบถุงพลาสติกที่ครอบปากสุนัข ไว้ และนำใส่ลงในถุงพลาสติกหนาๆ อีกชั้น รัดปากถุงให้แน่น ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หนาๆ ใส่ถุงพลาสติกหนา รวบปากถุงรัดให้แน่น (ห้ามแช่หัวสัตว์ในฟอร์มาลิน จะทำให้ เนื้อสมองแข็ง แยกเชื้อไม่ได้ ผลการตรวจไม่ดี) 4. นำถุงนี้ใส่ลงในถังพลาสติก โฟม หรือโลหะ อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีน้ำแข็งรองอยู่ ก้นถัง ประมาณ 1/4 แล้วเทน้ำแข็งกลบทับอีกครั้ง เพื่อรักษาตัวอย่างไม่ให้เน่า (ห้ามใส่เกลือ หรือแช่แข็ง จะทำให้ใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น และผลตรวจอาจไม่ดีเท่าที่ควร) 5. นำส่งห้องชันสูตรโรคโดยเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง 6. กรอกข้อมูลในแบบส่งตัวอย่างตรวจอย่างละเอียด เกี่ยวกับชนิดสัตว์ สี อายุ การฉีด วัคซีน การกัดคนหรือสัตว์อื่น รวมทั้งชื่อที่อยู่ ของผู้ต้องการผลชันสูตรหรือเจ้าของติดไว้ด้วย ป้องกันการสลับตัวอย่าง และเจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้รวดเร็ว ส่วนซาก ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก ควรเผาหรือฝังให้ลึกอย่างน้อย 50 ซม. ป้องกัน สัตว์อื่นคุ้ยเขี่ย มีดหรืออุปกรณ์อื่นให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วผึ่งแดดให้แห้ง หรือต้มในน้ำเดือดนาน 10 นาที กรุงเทพฯ 1. ศูนย์โรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ (บริการ 24 ชั่วโมง) โทร. 251-7022 2. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย (บริการ 24 ชั่วโมง) โทร. 252-0161-4 3. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล (ภาควิชาจุลชีววิทยา) โทร. 411-3111, 411-0263 ภาคกลาง 1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี โทร. 589-9850-8 2. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี โทร. (038) 286478, 287111 3. โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โทร. (039) 324975-84 ต่อ 282 4. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ ชลบุรี โทร. (038) 742116-20 5. สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 พระนครศรีอยุธยา โทร. (035) 242339 6. สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 ฉะเชิงเทรา โทร. (038) 511997 7. สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 นครปฐม โทร. (034) 250982 8. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 411381 ภาคเหนือ 1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. (053) 945134 2. ศูนย์วิยาศาสตร์การแพทย์ เชียงใหม่ โทร. (053) 211338 3. ศูนย์วิยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย โทร. (053) 793148-50 4. สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 เชียงใหม่ โทร. (053) 892453 5. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ ลำปาง โทร. (054) 226978 6. สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 พิษณุโลก โทร. (055) 258854 7. สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (055) 711450 8. สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (056) 721631แหล่งอ้างอิงกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ. โรคพิษสุนัขบ้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.(กรุงเทพฯ): กระทรวงสาธารณสุข. (จุลสาร)
ลักษณะโรคเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคนสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาดเชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ชนิดย่อยของไวรัส A ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในคนที่พบในปัจจุบันได้แก่ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ส่วนไวรัสชนิด B ไม่มีแบ่งเป็นชนิดย่อยเนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มียีโนมเป็น RNA แยกเป็น 7-8 ชิ้น ทำให้ยีโนมมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ค่อนข้างบ่อย เรียกว่า genetic variation การเปลี่ยนแปลงยีโนมทำให้แอนติเจนซึ่งเป็นผลผลิตของยีนส์เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือมี antigenic variation ซึ่งมี 2 แบบคือAntigenic drift เป็นการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเกิด RNA point mutation ทำให้ amino acid เพียงหนึ่งหรือมากกว่านั้นเปลี่ยนไป แต่ไม่มากพอที่จะทำให้ H หรือ N เปลี่ยนไป antigenic drift ทำให้เกิดการระบาดในวงไม่กว้างนักAntigenic shift เกิดขึ้นจากขบวนการ gene reassortant คือการที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A 2 สายพันธุ์เกิดการติดเชื้อในเซลล์หนึ่งเซลล์ มีการนำยีโนมจากไวรัสสายพันธุ์หนึ่งไปใส่ในอนุภาคของไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่งในเซลล์เดียวกัน ทำให้เกิดอนุภาคของไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งแอนติเจนเปลี่ยนไปจนทำให้ H หรือ N เปลี่ยนไปจนเกิดชนิดย่อย (subtype) ใหม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ (pandemic) มาแล้วในอดีตปัจจุบันสามารถพบ hemagglutinin (H) ที่แตกต่างกันถึง 15 ชนิด และ neuraminidase (N) 9 ชนิดของไวรัสชนิด A แต่มีเพียง H1N1 และ H3N2 ที่พบติดเชื้อในคนบ่อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจนที่เกิดได้บ่อยทำให้มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้นต่างสถานที่และต่างระยะเวลา ดังนั้นจึงต้องมีระบบการเรียกชื่อเพื่อป้องกันความสับสน คณะผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดให้เรียกชื่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามหลักสากลทั่วโลกดังนี้ ชนิดไวรัส/ชื่อเมืองหรือประเทศที่พบเชื้อ/ลำดับสายพันธุ์ที่พบในปีนั้น/ปี ค.ศ.ที่แยกเชื้อได้/ชนิดย่อยของ H และ N เช่น A/Sydney/5/97(H3N2), A/Victoria/3/75/(H3N2)การศึกษาด้านนิเวศวิทยาบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกำเนิดมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ตระกูลนก (avian influenza virus) สัตว์นกน้ำ (aquatic bird) เป็นแหล่งรังโรค (reservoir) เชื้อไวรัสสามารถแบ่งตัวได้ในลำไส้ของสัตว์ประเภทเป็ดป่า (wild duck) โดยไม่ทำให้สัตว์เกิดอาการ สัตว์เหล่านี้ขับถ่ายเชื้อไวรัสจำนวนมากออกมาพร้อมอุจจาระ ในแต่ละปีจะมีลูกนกเป็ดน้ำจำนวนมากเกิดขึ้นทั่วโลกลูกนกเหล่านี้ได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำ เมื่อลูกนกเป็ดน้ำโตขึ้นก็จะย้ายถิ่นและแพร่กระ จายเชื้อไวรัสไปอย่างกว้างขวางการระบาดของ avian influenza บนเกาะฮ่องกงในปี พ.ศ.2540 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส H5N1 บ่งชี้ว่าเชื้อแพร่กระจายจากนกที่อยู่ตามชายฝั่ง (shorebird) ไปสู่เป็ดโดยการปนเปื้อนของอุจจาระ จากนั้นแพร่ไปสู่ไก่และปักหลักอยู่ในตลาดขังสัตว์ปีกมีชีวิต (live bird market) นกที่อยู่ตามชายฝั่งและเป็ดไม่เป็นโรคเพราะเป็นแหล่งเก็บเชื้อโดยธรรมชาติ ส่วนไก่เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงและตายมาก คนติดเชื้อมาจากไก่ทางอุจจาระที่ปนเปื้อน (fecal oral) เชื้อไวรัสที่ผ่านสัตว์มาหลายเผ่าพันธุ์จะมีฤทธิ์ก่อโรคได้สูงในไก่และคน การผสมกัน (reassortment) ระหว่างไวรัสต่างเผ่าพันธุ์ (species) เกิดขึ้นได้ง่ายอาจทำให้เพิ่มชนิดย่อยใหม่ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้ มีการศึกษาว่าการใช้อุจจาระเป็ดไปเลี้ยงปลาจะนำไปสู่การแพร่เชื้อไวรัส avian influenza ไปสู่หมู เชื้ออาจแพร่ไปในอาหารและซากนกที่นำไปเลี้ยงหมูวิธีการติดต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปากระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วันระยะติดต่อผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกันการวินิจฉัยแยกโรคการวินิจฉัยแยกโรคไข้หวัดใหญ่จากเชื้ออื่นโดยอาศัยลักษณะทางคลินิกอย่างเดียวทำได้ยาก เชื้ออื่นๆที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ Mycoplasma pneumoniae, adenovirus, respiratory syncytial virus (RSV), rhinovirus, parainfluenza virus, และ Legionella spp.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเสมหะที่ป้ายหรือดูดจากจมูกหรือลำคอ หรือตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใน epithelial cell จาก nasopharyngeal secretion โดยวิธี fluorescent antibody หรือตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในซีรั่มอย่างน้อย 4 เท่าในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น โดยวิธี haemaglutination inhibition (HI) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน หรือ complement fixation (CF) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA)อาการและอาการแสดงอาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ( 38 ซ ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะสูงกว่านี้) ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่องเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานานหญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง
ลักษณะโรคโรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่นสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single - strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้วิธีการติดต่อโรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้ระยะฟักตัวระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกี ในยุง ประมาณ 8-10 วันระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วันระยะติดต่อโรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คนอาการและอาการแสดงหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)ผู้ป่วยมีอาการได้ 3 แบบ คือUndifferentiated fever (UF) หรือกลุ่มอาการไวรัสไข้เดงกี (Dengue fever - DF)ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever - DHF)โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้ไข้สูงลอย 2-7 วันมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนังมีตับโต กดเจ็บมีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อกการดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัวระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บระยะวิกฤติ/ช็อกประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อกระยะฟื้นตัวระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน